วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการฝึกซ้อมดนตรี


            สวัสดีโลกของ Blogger อีกครั้งค่ะ ไม่ได้อัพเดทบล็อกไปซะนาน กลับมาทีนี้ก็ขอฝากเรื่องเกี่ยวกับดนตรีๆ ให้แก่ผู้ที่ปรารถนาจะเล่นดนตรีซักชิ้นให้ได้ละกัน.... ซึ่งก็เป็นเรื่องของ"การฝึกซ้อมดนตรี" นั่นเอง !!!....เอาละ จากการที่ได้ไปพบข้อความต่างๆ ก็นำมาปะติดปะต่อกันก็ได้ลวดลายดังนี้ค่ะ


ขอเกริ่นก่อนว่า การที่เราสามารถเล่นดนตรีให้จบได้หนึ่งเพลง หรือเล่นเพลงให้มีความไพเราะ จนมีความสามารถที่เรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะทางดนตรีได้ ล้วนเป็นผลสำเร็จจากการฝึกฝนโดยสิ้นเชิง
 ในหนังสือบริหารจินตนาการของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกฝนไว้ว่า “อัจฉริยะมาจากการฝึก” ซึ่งคำว่าอัจฉริยะเป็นคำยกย่องความสามารถที่สูงส่ง เป็นความสำเร็จที่ได้มาจากการฝึกฝน ในทางพุทธศาสนาเราเรียนรู้ว่าพระพุทธเจ้าต้องอาศัยการฝึกฝน อาศัยความเพียร ต่อสู้กับความทุกข์จนสุดศักยภาพที่มนุษย์พึงกระทำได้ และใช้ปัญญาหาความสุขอันเป็นนิรันดร์ พระองค์จึงเป็นอัจฉริยะบุคคล  จึงนับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่มนุษย์ทั่วไปอย่างเราจะสามารถมีความเป็นอัจฉริยะได้จากการฝึกฝน  ดังนั้น การเป็นอัจฉริยะทางดนตรีก็ย่อมมาจากการฝึกเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องมาจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง มาจากการฝึกซ้อมที่ถูกต้อง มาจากการสั่งสอนของครูที่ถูกวิธี มาจากความอุตสาหะและความพยายามที่มั่นคง มาจากความอดทนโดยไม่ย่อท้อ มาจากทักษะและจินตนาการ จนสามารถเรียกรวมกันได้ว่า “ความเป็นเลิศทางดนตรี”


การฝึกซ้อมคือการเตรียมตัวอย่างหนึ่ง หากเราต้องการเล่นเพลงหนึ่งเพลงให้ได้ดังที่หวังไว้ การฝึกซ้อมเพลงก็คือการเตรียมตัวพร้อมที่จะเล่นเพลงนั้นให้ได้ดีนั่นเอง ซึ่งการเตรียมตัวก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่ง  บางคนเรียนดนตรีมาเป็นเวลานานและใช้เวลาการซ้อมต่อวันติดต่อกันนานถึงแปดชั่วโมงเพราะคิดว่าการซ้อมของเขาเป็นวิธีที่จะทำให้ศักยภาพทางดนตรีมีการพัฒนาได้เร็วที่สุด  แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องแสดงจริงกลับไม่สามารถเล่นดนตรีได้ดีอย่างที่หวัง  แสดงให้เห็นว่าการฝึกซ้อมที่ผ่านมาไม่มีผลอะไรเลย  ในทางตรงกันข้ามก็มีนักดนตรีที่ฝึกซ้อมน้อย แต่สามารถแสดงดนตรีได้ดีกว่า  ทำให้ผู้เขียนเกิดแนวคิดว่าความพร้อมในการแสดงดนตรีที่แตกต่างกันอาจจะเกิดจากวิธีการฝึกซ้อมที่แตกต่างกัน 

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า  "Art of Practicing"  ได้กล่าวถึงหลักการซ้อมดนตรีถึงสิบข้อ กล่าวโดยสรุปแล้ว สิ่งที่เราควรคำนึงในการฝึกซ้อมดนตรีก็คือการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนการซ้อมเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการเล่นดนตรี ซึ่งในส่วนของการกำหนดเป้าหมายนั้น เราต้องหาปัญหาในการเล่นให้เจอก่อนและหาสาเหตุว่าทำไมเราเล่นไม่ได้และเริ่มแก้ปัญหาทีละอย่าง การซ้อมที่ดีนั้นเราจะต้องเข้าใจเรื่องพื้นฐานของเครื่องดนตรีที่เราเล่นอยู่โดยหาหนทางหลายๆ ทางมาดัดแปลงให้เข้ากับสรีระร่างกายของเราซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และควรให้คิดก่อนลงมือซ้อมว่าเราจะทำอะไรในการซ้อม

อาจมีการแบ่งเวลาซ้อมในแต่ละวัน วางแผนในการฝึกซ้อมว่าวันนี้เราต้องการอะไร และจะซ้อมอะไร นักเรียนส่วนใหญ่ซ้อมโดยไม่รู้ว่าวันนี้เราซ้อมไปเพื่ออะไร และต้องการแก้ไขอะไร การฝึกซ้อมจึงไม่ค่อยเกิดประโยชน์ การใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อคิดจะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้มีอะไรบ้าง และวางแผนล่วงหน้าเกี่ยวกับจำนวนเวลาที่เราจะซ้อมในแต่ละเรื่อง อันนี้ขึ้นอยู่กับเวลาที่เรามีอยู่ให้ในการซ้อม ควรวางแผนเป็นวัน เป็นอาทิตย์หรือวางแผนระยะยาว แต่ควรคิดไว้เสมอว่าไม่ว่าจะกรณีใด เราควรจะซ้อมมากน้อยเพียงใดนั้น เราแค่เพียงต้องการที่จะเรียนเพลงให้ดีที่สุดที่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาทางเทคนิคการเล่น ถ้าเราทำได้ถึงจุดนี้ เราก็สามารถจะแก้ปัญหาด้านการตื่นเต้นบนเวที  และควรจำไว้ว่าการซ้อมอย่างมีสมาธิเพียง 2 ชั่วโมง ย่อมดีกว่าการซ้อม 7-8 ชั่วโมงอย่างเลื่อนลอย ซึ่งเราต้องรู้ตัวเราเองว่าระยะเวลานานเท่าไรที่เราสามารถซ้อมได้อย่างมีสมาธิ เราต้องทราบจุดเด่นและจุดด้อยในการเล่นของเรา และที่สำคัญเราต้องเรียนรู้ที่จะฟังการเล่นของเราและต้องไม่ปล่อยสิ่งที่ผิด ลาดออกไปโดยไม่มีการแก้ไข นั่นคือ เราต้องเป็นครูคอยสอนสั่งเคี่ยวเข็ญตัวเองเสมอ คนบางคนสามารถเรียน รู้และจดจำได้เร็วกว่าอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เรียนรู้ได้เร็วนั้นจะสามารถได้ประโยชน์จากการ ซ้อมดีกว่าคนที่เรียนรู้ช้า คนที่ค่อยๆ ซ้อมไปช้าๆ อาจจะเข้าใจได้ดีกว่าและสามารถแก้ไขเทคนิคการเล่นให้ดีขึ้นและมั่นคงอยู่กับตัวได้นานกว่าก็เป็นได้
ในการซ้อมไม่ควรหักโหมเกินไป ไม่ควรซ้อมจนเหนื่อย เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการซ้อม  เพราะหากไม่กับดนตรีที่เราเล่นแล้วก็จะทำให้เราไม่สามารถเป็นนักดนตรีที่ดีได้ ก็อาจควรมีการพักการซ้อมและปฏิบัติเมื่อยังสนุกอยู่หรือเมื่อทำได้ โดยเปลี่ยนมานั่งพิจารณารายละเอียดสิ่งที่ทำไป หรือจดบันทึก แต่อย่าเปลี่ยนเรื่องซ้อม และอย่าพักนานเกินไป อาจพัก 1-5 นาที เริ่มแรกควรสังเกตตัวเองให้ได้ว่าทนการซ้อมได้นานเท่าไร เช่น ถ้าลองซ้อมไปสัก 30 นาทีแล้วเริ่มเบื่อ ครั้งต่อไปควรซ้อมสัก 20 นาที แล้วพัก อย่ารอจนเบื่อ เมื่อเกิดความชินแล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นทีละน้อย การซ้อมบ่อย ๆ ได้ผลดีกว่าการซ้อมนานๆ ครั้ง ครั้งละนานๆ
ในการซ้อมช่วงที่ยากๆ ก็ควรซ้อมอย่างช้าๆ ก่อนเพื่อให้เราได้ฟังและทราบว่าสิ่งที่เราเล่นนั้นถูกต้อง ทั้งด้านโน้ต จังหวะ เทคนิคและการเคลื่อนไหวของร่างกาย หลังจากนั้นจึงซ้อมแบบซํ้าๆหลายๆ ครั้งจนกระทั่งมันเกิดขึ้นเองจนเป็นธรรมชาติ โดยที่เราไม่ต้องบังคับมัน  สำหรับเพลงที่ไม่เคยเล่นมาก่อน อาจจะเริ่มซ้อมเพลงด้วยความเร็วช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ แต่ต้องเป็นความช้าที่ทำให้เราสามารถเข้าใจรายละเอียดของเพลงได้ เพื่อให้เราคิดทันทุกรายละเอียด เก็บเทคนิคและรายละเอียดต่าง ๆ ช้าๆจนถึงขั้นเล่นโน้ตทีละตัว ๆ ฟังไม่เป็นเพลง จนคิดล่วงหน้าได้ทั้งหมดแล้ว จึงค่อยเพิ่ม tempo ขึ้นทีละ step เช่น เพิ่มขึ้น 5 จังหวะ/นาที และก็ซ้อมเก็บรายละเอียดทุกอย่างเหมือนเดิมแล้วจึงค่อยเพิ่มจังหวะขึ้น ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าการซ้อมช้าเป็นสิ่งที่เสียเวลาและไม่มีประโยชน์ อีก ควรระลึกไว้ว่า "ร่างกายของเราเปรียบได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าเราใส่ข้อมูลผิดๆ เข้าไปครั้งแรก โอกาสที่คอมพิวเตอร์แสดงผลอย่างผิดๆ จะมีสูง และเราจะแก้ไขยาก" อีกทั้งยังมีนักดนตรีท่านหนึ่งกล่าวว่า "ถ้าเล่นช้าให้ดีไม่ได้ ก็ไม่มีทางเล่นเร็วให้ดีได้"  ดังนั้นการที่เราซ้อมดนตรีช้าๆด้วยความถูกต้องก็สามารถทำให้เราเล่นดนตรีได้ถูกต้องด้วยความคล่องที่พัฒนาขึ้นได้จนเป็นธรรมชาติ
บางคนก็ค้นหาจุดที่เป็นปัญหาในการฝึกซ้อมด้วยเมโทรนอม เพราะเราจะถูกกำหนดให้เล่นดนตรีตามจังหวะของเพลง หากได้ยินการเคาะจังหวะที่กำหนด ก็อาจจะช่วยกระตุ้นให้เราเล่นเพลงตามจังหวะได้ เพราะการะซ้อมโดยไม่ใช่เมโทรนอมมักจะทำให้เราเล่นตามใจตัวเอง เราอาจฝึกซ้อมดนตรีด้วยการเล่นจุดที่ยากให้ช้าลงกับเมโทรนอมเพื่อเก็บรายละเอียดที่ถูกต้องก่อนได้  การฝึกเล่นตามจังหวะกับเมโทรนอม จะทำให้เราค้นพบว่า เราขาดตรงไหน มีปัญหาตรงไหนกับช่วงการฝึก เมื่อรู้แล้ว เราก็ฝึกตรงนั้นให้มาก และเล่นให้ช้าลง แล้วค่อยๆเพิ่มความเร็ว ก็จะทำให้เล่นได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากเปิดเมโทรนอมแล้วเล่นไม่ทันในบางจุด ก็หาให้เจอว่าจุดไหนที่เรามีปัญหา แล้วแก้เฉพาะจุดนั้นก่อน แก้เฉพาะจุด โดยการถอยเมโทรนอมออกให้ช้าลง แล้วค่อยๆเร็วขึ้นจนเล่นได้ ถ้าเพลงเร็วมาก ควรฝึกจากช้าไปเร็ว แล้วจดบันทึกไว้ทุกครั้งว่าเล่นได้เร็วกี่ BPM แล้วเราจะไปถึงความเร็วเป้าหมายได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาสั้นลงมาก
 ส่วนในรายละเอียดของเพลงก็ควรมีการซ้อมเทคนิคให้มาก ควรซ้อมเพลงให้น้อยเพราะเพลงส่วนใหญ่ในโลกนี้ล้วนแต่งขึ้นบน "เทคนิคการเล่น" ที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ของเครื่องดนตรีแต่ละชิน  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือเนื้อหา และการเรียบเรียง ดังนั้นหากเราเชี่ยวชาญเทคนิคการเล่น จะทำให้ใช้เวลาซ้อมแต่ละเพลงสั้นลงมากหรืออาจจะไม่ต้องซ้อมเลย ซึ่งเราไม่ควรเสียเวลาซ้อมเพลงเพื่อให้ได้เพลงเพิ่มอีกหนึ่งเพลง โดยปราศจากความเข้าใจเพลงนั้น หากไม่ได้ซ้อมก็จะลืม ดังนั้น หากเรามีเวลาอยู่ 100% ก็ควรเลือกซ้อมเพลงแค่ 15% ที่เหลือซ้อมเทคนิคและทำความเข้าใจสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเล่นเพลงนั้น ๆ
ระหว่างการฝึกซ้อมอาจคิดถึงเรื่องของการหายใจและเสียง ถ้าเผื่อไม่แน่ใจว่าเราเล่นเพี้ยนหรือไม่ ให้ใช้ Tuner เครื่องเทียบเสียงในการฝึกซ้อมด้วย และโน้ตดนตรีส่วนมากจะมีเครื่องหมายต่าง ๆ หรือศัพท์ทางด้านดนตรีที่เรามักปฏิบัติไม่ถูก เราควรทำความเข้าใจเครื่องหมายเหล่านั้นและปฏิบัติทุก ๆ เครื่องหมายในโน้ตที่ได้พบ ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งทางดนตรี ที่จะช่วยให้เราตีความหมายของบทเพลงได้ แต่หากการเล่นโน้ตนั้นเป็นครั้งแรก (Sigh Reading) ก็พยายามปฏิบัติเท่าที่เราจะทำได้
การฝึกซ้อมดนตรีของนักดนตรีบางคนก็มีการอธิฐานก่อนซ้อม  ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นเพราะว่าพวกเขามีความเชื่อทางไสยศาสตร์แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความเชื่อจากพระเจ้า ซึ่งก็เป็นความเชื่อส่วนตัวที่มีอิทธิพลอย่างหนึ่งเช่นกัน สำหรับนักดนตรีที่เชื่อในพระเจ้าก็อย่าลืมว่าพระองค์คือผู้ให้กำเนิดดนตรี
บางคนอาจเคยได้ยินว่าการเล่นดนตรีที่ดีต้องมี Inner ในการเล่นด้วย นั่นก็คือการเล่นที่ใช้ความรู้สึกนึกคิดในบทเพลงนั้นๆ นั้นเอง ในการซ้อมดนตรีก็เช่นเดียวกัน  เราสามารถฝึกซ้อมทางด้านร่างกายกับเครื่องดนตรีไปพร้อมกับฝึกซ้อมด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับบทเพลงที่เราจะแสดงไปด้วยได้เช่นกัน  จริงๆแล้วสมองของเราเป็นตัวควบคุมจัดการกับกิริยาทุกอย่างในการเล่น เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ที่ดีได้ ต้องมีโปรแกรมที่ดี  เราอาจมองโน้ตเพลงที่จะเล่น แล้วจินตนาการเสียงตาม บางครั้งเราอาจพบหนทางตีความบทเพลงแบบใหม่ๆ ที่อาจดีกว่าแบบเก่าที่เราเคยชินก็เป็นได้ บางครั้งอาจหลับตาแล้วจินตนาการว่าเรากำลังเล่นบทเพลงนั้นๆ จริงๆ การฝึกเช่นนี้ ไม่เพียงช่วยด้านเทคนิค แต่ช่วยเรื่องการจดจำบทเพลงได้ด้วย ถ้าเราสามารถเล่นเพลงด้วยจินตนาการได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่อาศัยเครื่องดนตรีเลย โดยมี tempo ที่ดีและไม่มีการหลงลืมหรือชะงัก  เราอาจพูดได้ว่าเราสามารถจำบทเพลงได้แล้ว แต่ถ้ายังหลงลืมบางจุด ก็กลับไปแก้ไขจุดนั้นโดยเร็ว
วิธีที่จะช่วยฝึกซ้อมด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับบทเพลงอีกแนวทางหนึ่ง ก็คือ การฟังเพลงจากแผ่นหรือผลงานที่นักดนตรีได้บันทึกไว้ และพยายามเลียนแบบ น้ำเสียง, สำเนียง, Phrasing และการตีความบทเพลง (interpretation) ของศิลปินท่านนั้น ๆ เพื่อเป็นแนวทาง
และปัญหาในการแสดงอีกอย่างคือเราอาจละเลยช่วงเพลงที่ง่ายได้  เพราะเราอาจจะพบว่าเพลงที่เราจะเล่นนั้น อาจมีหลายช่วงที่มีความง่าย ไม่มีปัญหาแม้กระทั่งลองเล่นในครั้งแรกเพียงครั้งเดียว คนบางคนก็ชอบเล่นแต่ช่วงง่ายๆ นี้บ่อยๆ โดยไม่ค่อยอยากไปเล่นในช่วงยากๆ เพราะเสียงดีสู้ช่วงง่ายๆนี้ไม่ได้ แต่อีกพวกหนึ่ง ซ้อมแต่ช่วงยากๆ จนแทบไม่สนใจช่วงง่ายอีกเลย จริงๆ แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับช่วงง่ายๆ เหล่านี้มากนัก แต่อย่างน้อยก็ควรเล่นให้ผ่านตาไว้บ้าง อย่าให้เมื่อถึงเวลานำออกแสดงแล้วช่วงง่ายๆ เหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยเหมือนเพิ่งเคยเห็น การไม่คุ้นเคยนี้จะทำให้เราลังเลว่า "เล่นถูกหรือเปล่า" "ใช้นิ้วอะไรดี ตรงนี้" เราก็ไม่ควรทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น  หรือมาทำลายสมาธิเรา
นอกจากนี้เราอาจต้องฝึกการเล่นรวมวงที่ดีด้วย เพราะการเล่นรวมวงก็ใช้ทักษะของการเล่นเดี่ยวที่มีความสัมพันธ์กัน เราจึงอาจต้องฝึกการซ้อมวง อีกทั้งแล้วการซ้อมวงคือ การช่วยเหลือผู้อื่น สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การซ้อมวงก็คงจะเคยได้ยินประโยคขอความช่วยเหลือต่อไปนี้ “ช่วยเล่นเบาๆหน่อยตอนที่เพื่อนกำลังร้อง”  “เล่นให้เพราะๆ”  “เล่นกันให้ได้ยินชัดเจนในเวลาที่เล่นนำ (Solo) ร้องประสาน”  รวมถึงการปรับแต่งเสียงและการบรรเลงให้เหมาะกับเพลงที่นักดนตรีแต่ละคนเล่น  และไม่เอาเท้าเหม็นๆของเราเข้าไปในห้องซ้อม เป็นต้น
เมื่อเรารู้แนวทางในการซ้อมดนตรีที่ดีและนำไปปฏิบัติตามแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพทางดนตรีได้ดี เข้าใจดนตรีได้อย่างถ่องแท้ขึ้น มีความพร้อมในการเป็นนักดนตรีที่ดีมากขึ้นได้ อีกทั้งยังทำให้ประหยัดเวลาในการซ้อมลงได้ด้วย ซึ่งหากเราได้ปฏิบัติตามแนวทางการซ้อมเหล่านี้จนมั่นใจในความสามารถของเราแล้ว  ก็ไม่ควรไปหลงคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เราควรคิดเสมอว่าตนเองยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ  และสม่ำเสมอ ควรมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง อย่าเข้าข้างตนเองโดยหาข้อแก้ตัวต่างๆ นาๆ เช่น ก็ฉันไม่มีเวลาซ้อมนี่ ซึ่งควรหาเวลาเพื่อฝึกซ้อมและพัฒนาทักษะของตนเองให้ดีก็จะเกิดประโยชน์มากกว่า  และข้อสำคัญที่พึงระลึกไว้เสมอก็คือ เราควรซ้อมบทเรียนที่ได้รับมอบหมายมาให้พร้อม อย่าให้ครูผู้สอนต้องทวนซ้ำในสิ่งที่บอกเราไปแล้วอีกครั้ง เราจะต้องเตือนตัวเองไว้เสมอ อาจเขียนลงไปในโน้ตเมื่อได้ยินคำแนะนำวิธีการฝึกซ้อมหรือวิธีปฏิบัติโน้ต และจงจำไว้ว่า การฝึกซ้อมที่ดีคือกุญแจแห่งความสำเร็จ


แหล่งอ้างอิง :

หนังสือบริหารจินตนาการ กรณีศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สุกรี  เจริญสุข
http://www.artorchidschool.com
http://www.santimusicschool.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น